Butterfly Lizard หรือคนไทยเรียก  " แย้ " เจ้าสัตว์เลื้อยคลานในวงศ์ Agamidae ลําตัวแบนราบ ข้างตัวมีสีสวย ไม่มีหนามสันหลัง อาศัยขุดรูอยู่ในดิน หากินตามพื้นดิน ไม่ขึ้นต้นไม้ แต่ความสามารถพิเศษสูง ไม่มีใครสามารถลอกเลียนได้ มีเพศเมียเพศเดียวไม่ง้อเพศผู้ แพร่พันธุ์ด้วยการโคลนตัวเองออกมาเหมือนกันทุกกระเบียด ทุกตัว และ อาจจะใช้วิธีการนี้มานานนับพันนับหมื่นปีเพื่อความอยู่รอดในธรรมชาติ ขณะที่มนุษย์เพิ่งจะรู้จักโคลนนิ่งเมื่อกว่า 20 ปีมานี้
 
         มนุษย์เพิ่งจะรู้จัก โคลนนิง เมื่อกว่า 20 ปีมานี้ แต่ตัวแย้ สัตว์เลื้อยๆ คลานๆ ชนิดหนึ่งในเวียดนามกลับโคลนตัวเองได้ตามธรรมชาติ ไม่ทราบกี่หมื่นกี่พันปีมาแล้ว มีเพียงเพศเมียเพศเดียว แพร่พันธุ์ และขยายเผ่าพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง 
 
         นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ค้นพบ ประหลาดใจที่ได้เห็นแย้ชนิดนี้กลายเป็นอาหารยอดนิยม ตามร้านอาหารทั่วไปในภาคใต้เวียดนามมานานแสนนาน โดยนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเฉลียวใจว่า มันเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ของแท้ ยังไม่เคยมีการบันทึก
       
         แย้กะเทย (Leiolepis ngovantrii) ชนิดนี้ ตั้งชื่อตามผู้ที่พบและรู้จักพวกมันเป็นรายแรก คือ ศาสตราจารย์ ลี กริสเมอร์ (Lee Grismer) แห่งมหาวิทยาลัยลาเซียร์รา ที่เมืองริเวอร์ไซด์ แคลิฟอร์เนีย กับ ศ.เลวันจี๊ (Le Van Tri) ผู้ร่วมงานจากแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม


                สัตว์เลื้อยคลานที่มีเพียงเพศเดียวอาจจะไม่ใช่เรื่องประหลาดสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็มีอยู่เพียงประมาณ 1% เท่านั้นที่แพร่พันธุ์โดยการสร้างไข่ขึ้นมา แต่การโคลนตัวเองด้วยไข่ นับเป็นเรื่องหายาก
       
                ตัวอ่อนที่ฟักจากไข่ของแย้ชนิดนี้ ได้ถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของตัวแม่อย่างครบถ้วน ทำให้มีลักษณะเหมือนกันทุกกระเบียด
       
                นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดสัตว์พวกนี้จึงมีวิวัฒนาการมาผิดแผกไปจากธรรมชาติ ที่ให้สรรพสัตย์มี 2 เพศมาคู่กับโลก และยังไม่ทราบเช่นกันว่า แย้ชนิดนี้มีวิวัฒนาการมานานเท่าไร และ พ่อของแย้ตัวเมียตัวแรกมาจากไหน และ หายไปไหน
แต่ชาวเวียดนามรับประทานแย้ชนิดนี้มานานแล้วศ.ดร.กริสเมอร์ กล่าว ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวซเวินจี๊ (Dan Tri)

               “ร้านอาหารต่างๆ ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงเสิร์ฟเมนูแย้ชนิดนี้มานานแล้ว โดยไม่มีใครสังเกต และเราวิ่งชนมันเข้าอย่างบังเอิญ เพราะประหลาดใจตรงที่เห็นพวกมันเหมือนกันหมดทุกตัวศ.ดร.กริสเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์เลื่อยคลาน กล่าว
     
                นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน กล่าวอีกว่า ทุกคนทราบดีแย้สายพันธุ์ Leiolepis นี้ ชนิดอื่นๆ จะมีเพศผู้กับเพศเมีย ที่มีสีและลวดลายบนลำตัวต่างๆ กันไป ผิดไปจากตัวพบใหม่ ที่มีแต่เพศเมียและเหมือนกันทุกตัว เหมือนกันทุกอย่าง ตั้งแต่หัวจรดหาง
     
                ศ.ลี กริสเมอร์ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ครั้งแรกทีมค้นคว้าได้โทรศัพท์ไปยังร้านอาหารแห่งหนึ่งขอให้เหลือแย้ชนิดนี้เอาไว้ให้ศึกษา อย่าทำอาหารเสียหมด จากนั้นก็จับเครื่องบินจากนครโฮจิมินห์ลงไป นั่งมอเตอร์ไซค์ต่อไปอีก 2-3 ชั่วโมง แต่ปรากฏว่า เจ้าของร้านเมาและลืมไป แย้เคราะห์ร้ายกลายเป็นอาหารไปหมดทุกตัว  “โชคดีที่ยังมีเหลืออีกตัวที่ร้านอาหารในหมู่บ้านใกล้เคียงกันนักวิทยาศาสตร์ กล่าว
     
                โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการฝ่ายวิจัยและค้นหา มูลนิธิเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก (National Geographic Society) ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสารในเครือชื่อเดียวกัน และ เจ้าของสารคดีทางโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
     
               ถิ่นที่อาศัยของแย้ชนิดใหม่นี้ คือ เขตป่าสงวนบี่งเจิว-เฟื๊อกบือว์ (Binh Chau- Phouc Buu) ใน จ.เกียนซยาง (Kien Giang) ซึ่งเป็นป่าพุ่มไม้เตี้ยๆ กับดินทรายชายฝั่งทะเล
     
               นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า แย้กะเทยที่พบอาจจะเป็นพันธุ์ผสมของแย้เพศผู้กับเพศเมียต่างสายกัน ทำให้พวกมันกลายเป็นหมัน และในกาลครั้งหนึ่งสภาพทางภูมิศาสตร์เช่นนั้น อาจจะทำให้พวกนี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงต้องดิ้นรนวิวัฒนาการ หาทางสืบเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยการโคลน