ชื่อไทย  : กิ้งก่าคอแดง , กิ้งก่าหัวแดง, กิ้งก่าสวน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Calotes versicolor (DAUDIN ,1802)

 กิ้งก่าคอแดงเป็นกิ้งก่าขนาดกลาง ในตัวผู้มีสีสันสะดุดตามาก โดยตั้งแต่คอถึงช่วงกลางลำตัวจะมีสีแดงสด ใต้คางมีปื้นสีดำรูปสามเหลี่ยม สีแดงเข้มสดนี้เอง เป็นที่มาของชื่ออีกชื่อหนึ่งของมันคือ " Blood sucker " สามารถเปลี่ยนสีได้รวดเร็ว เวลาตกใจมักเป็นลายบั้งตามตัว ลงมาจนถึงหาง มีอาณาเขตเป็นของตัวเอง กินแมลงขนาดเล็ก เช่น ตั๊กแตนที่อยู่ตามทุ่งหญ้า และ หนอนผีเสื้อ วางไข่คราวละ 4-12 ฟอง



 กิ้งก่าคอแดงลักษณะ มีขนาดตัวเล็ก (จากปลายปากถึงรูก้น 98 มิลลิเมตร และหางยาว 260 มิลลิเมตร)ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวค่อนข้างยาวและส่วนหัวกว้างกว่าลำคอ หางมีความยาว 2 – 3 เท่าของความยาวลำตัว ผิวหนังมีเกล็ดแข็งปกคลุม เกล็ดบนหัวเรียบและมีขนาดแตกต่างกัน แต่เกล็ดที่อยู่แนวตรงกลางของหัวบริเวณท้ายทอยมีขนาดใหญ่ เกล็ดบนหลังและที่ด้านข้างลำตัวมีสันแต่เล็ก


 กิ้งก่าคอแดง สันของเกล็ดหลังและด้านข้างลำตัวมีส่วนปลายของสันชี้ไปทางด้านท้ายตัวและสันของเกล็ดเรียงเป็นแถวที่มีแนวเฉียงขึ้นไปข้างบน เกล็ดบนหางใหญ่และมีสัน เกล็ดด้านท้องมีสัน เกล็ดที่คอใหญ่กว่าเกล็ดท้องและมีสัน ด้านบนและค่อนมาทางด้านท้ายของแผ่นเยื่อแก้วหูมีหนามสั้น 2อัน และที่ท้ายทอยในแนวกลางตัวมีหนามสั้นหลายอันที่ล้อมรอบด้วยหนามที่สั้นกว่า และมีหนาม ต่อเนื่องไปบนหลังจนถึงโคนหางที่มีขนาดสั้นลงตามลำดับ


 กิ้งก่าคอแดง ลำตัวสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเหลือง บางตัวอาจมีแถบสีเข้มพาดขวางบนหลังเป็นระยะและบางตัวไม่มี แผ่นเกล็ดที่ปกคลุมลำตัวส่วนมากมีขอบสีขาวหรือสีน้ำตาลจาง หางมีแถบสีเข้มและจางพาดขวาง ด้านข้างของหัวมีเส้นสีดำเป็นรัศมีออกไปจากตา คางและลำคอมีเส้นยาวสีเข้มหลายเส้น ด้านท้องสีน้ำตาลจางและมีเส้นสีเข้มในแนวกลางตัว


 กิ้งก่าคอแดง ในช่วงฤดูสืบพันธุ์หรือเมื่อมีพฤติกรรมก้าวร้าว หัวและส่วนต้นของลำตัวของเพศผู้เป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีส้มอมแดงกิ้งก่าวัยอ่อนมีเส้นยาวสีครีมพาดยาวอยู่ที่ด้านข้างลำตัว และพบว่าเต็มวัยบางตัวก็มีเส้นนี้ด้วยสามารถเปลี่ยนสีได้รวดเร็ว คือเมื่อเครียดจะเปลี่ยนสีตัวให้เข้มขึ้นขาหน้าและขาหลังค่อนข้างยาว เมื่อจับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้า ส่วนปลายนิ้วเท้าอยู่ในตำแหน่งด้านท้ายของตา นิ้วตีนเรียวยาวและส่วนปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บการแพร่กระจาย จีน ภูฐาน อัฟกานิสถาน เนปาล อิหร่าน อินเดีย ศรีลังกา เมียนมาร์ เวียดนามลาว กัมพูชา มาเลย์เชีย อินโดนีเซีย เกาะเมอริเทียส ในประเทศไทยพบทุกภาคของประเทศ ในพื้นที่ในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าปลูก เป็นต้น



พื้นที่อาศัย อยู่บนต้นไม้
กิ้งก่าคอแดง นิสัย หากินในเวลากลางวันและอยู่บนต้นไม้ ในช่วงเวลาเช้าจะลงมาเกาะอยู่ในระดับต่ำของต้นไม้ แต่ในช่วงบ่ายเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะปีนขึ้นไปอยู่ในระดับสูงของต้นไม้ ซึ่งเป็นการลดอุณหภูมิลำตัว เพราะพื้นที่สูงจากพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าระดับผิวดิน เมื่อนอนหลับในเวลากลางคืนจะเกาะอยู่ในระดับต่ำของต้นไม้ 

สถานภาพ
กิ้งก่าคอแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง พ.. 2546 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2535 และไม่มีสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของ Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning (2005) และตามเกณฑ์ของ IUCN (2008)