กิ้งก่าสวน กิ้งก่าหัวสีฟ้า
Calotes mystaceus Dumeril and Bibron, 1837
Moustached crested lizard/Blue crested lizard

กิ้งก่าสวน กิ้งก่าหัวสีฟ้า – Calotes mystaceus Dumeril and Bibron, 1837

กิ้งก่าหัวสีฟ้าลักษณะ มีขนาดตัวปานกลาง (จากปลายปากถึงรูก้น 132 มิลลิเมตร และหางยาว 278 มิลลิเมตร) ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวค่อนข้างใหญ่และส่วนหัวกว้างกว่าลำคอเล็กน้อย หางมี ความยาว 2 – 3 เท่าของความยาวลำตัว ผิวหนังลำตัวมีเกล็ดแข็งปกคลุม เกล็ดบนหัวมีขนาดไม่ เท่ากันและเป็นสัน เกล็ดบนหลังและด้านข้างลำตัวมีขนาดไม่เท่ากันและเป็นสัน


กิ้งก่าหัวสีฟ้าโดยเกล็ด ด้านข้างลำตัวใหญ่กว่าเกล็ดบนหลังเล็กน้อย สันของเกล็ดหลังและทางด้านบนของลำตัวมีส่วน ปลายของสันชี้ไปทางด้านท้ายตัวและสันของเกล็ดเรียงเป็นแถวที่มีแนวเฉียงขึ้นไปข้างบน แต่สันของเกล็ดที่ด้านล่างลำตัวจะมีแนวเฉียงลงทางด้านล่าง เกล็ดด้านท้องเล็กกว่าเกล็ดบนหลัง เกล็ดบนหางเป็นสัน หัวไหล่มีร่องหรือแอ่งและในร่องเป็นเกล็ดเล็กมาก มีรอยพับของผิวหนังที่หัวไหล่ด้านบนของแผ่นเยื่อแก้วหูมีหนามสั้น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งอยู่สูงขึ้นมาจากแผ่นเยื่อแก้วหูมาก และอีกกลุ่มอยู่ทางด้านบนค่อนไปทางด้านท้ายของแผ่นเยื่อแก้วหู ที่ท้ายทอยในแนวกลางตัวมีหนามยาวหลายอันที่ล้อมรอบด้วยหนามที่สั้นกว่าและมีหนามต่อเนื่องไปบนหลังจนถึงโคนหางที่มีขนาดสั้นลงตามลำดับ

 
กิ้งก่าหัวสีฟ้าลำตัวสีน้ำตาล ครึ่งทางด้านหน้าของลำตัวสีคล้ำกว่าครึ่งทางด้านท้ายของลำตัว บน หัวไหล่และส่วนต้นของด้านหลังมีจุดกลมใหญ่สีน้ำตาลแดงหรือสีสนิมเหล็ก 3 จุดเรียงตัวเป็นแถวต่อเนื่องกัน หางมีทางสีเข้มและสีจางพาดขวางเป็นปล้องซึ่งชัดเจนทางส่วนปลายของหางมากกว่าทางส่วนต้นของหาง คางและใต้คอสีน้ำตาลคล้ำ ขอบปากบนมีแถบกว้างสีขาวพาดยาวจากด้านท้ายของช่องเปิดจมูกผ่านเยื่อแก้วหูไปสิ้นสุดทางด้านข้างของลำคอหรือทางด้านหน้าของจุดกลมสีน้ำตาลแดงจุดแรก ด้านท้องสีขาวอมฟ้า และด้านใต้หางสีขาวขุ่น สีของเพศผู้ในช่วงฤดูสืบพันธุ์ สีทางครึ่งหน้าของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าคราม ได้แก่ หัว ส่วนต้นของลำตัว คาง ใต้คอขาหน้า ท้อง และขาหลัง ซึ่งจะตัดกับสีขาวของขอบปากบนชัดเจน แต่ในเพศเมียจะมีสีฟ้าครามตั้งแต่หัวถึงคอเท่านั้น

 
กิ้งก่าหัวสีฟ้าขาหน้าและขาหลังค่อนข้างยาว เมื่อจับขาหลังแนบกับลำตัวไปทางด้านหน้า ส่วน ปลายนิ้วตีนอยู่ในตำแหน่งแผ่นเยื่อแก้วหู นิ้วตีนเรียวยาวและส่วนปลายนิ้วตีนทุกนิ้วมีเล็บ การแพร่กระจาย จีน อินเดีย เมียนมาร์ ลาว เวียตนาม กัมพูชา ในประเทศไทยพบทางตอนบน ของประเทศตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีขึ้นมา ในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชพบในป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าปลูก

 
พื้นที่อาศัย อยู่บนต้นไม้
นิสัย หากินในเวลากลางวัน  อาหารจะเป็นสัตว์เล็ก มด ปลวก หนอน เป็นต้น และอาศัยอยู่บนต้นไม้ ในช่วงเวลาเช้าจะลงมาเกาะอยู่ในระดับต่ำของ ต้นไม้ แต่ในช่วงบ่ายเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นจะปีนขึ้นไปอยู่ในระดับสูงของต้นไม้ ซึ่งเป็นการลด อุณหภูมิลำตัว เพราะพื้นที่สูงจากพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าระดับผิวดิน เมื่อนอนหลับในเวลา กลางคืนมักเกาะอยู่ในระดับสูงของต้นไม้ ช่วงเวลาผสมพันธุ์ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยพบเพศเมียที่มีไข่ในเดือนปลายพฤษภาคม-มิถุนายน และพบขุดดินเพื่อวางไข่ตามแนว เส้นทางกันไฟในป่าเต็งรังในเดือนปลายพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ขึ้นกับความชื้นของพื้นดินด้วย


กิ้งก่าหัวสีฟ้าเพศผู้กำหนดอาณาเขต และมีพฤติกรรมที่ยกลำตัวส่วนหน้าสูงขึ้นเล็กน้อย พร้อมทั้งผงกหัวขึ้น-ลง (bob-headed behavior) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ใช้ข่มขู่เพศผู้ตัวอื่นเพื่อป้องกันอาณาเขต ขณะเดียวกันใช้เป็นพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีเพศเมีย

สถานภาพ
กิ้งก่าสวน กิ้งก่าหัวสีฟ้า เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง พ.. 2546 ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2535 และไม่มีสถานภาพเพื่อการอนุรักษ์ตามเกณฑ์ของ Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning (2005) และตามเกณฑ์ของ IUCN (2008) ในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชพบได้บ่อยครั้ง